สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผ่านการฝึกอบรมและสื่อออนไลน์ e-learning รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) โดย พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) โดย นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และยกระดับทักษะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งในรูปแบบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและการเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์ รวมถึงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ร่วมกัน
พลอากาศตรี อมร ชมเชย กล่าวว่า “ภารกิจหลักของ สกมช. คือการลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์เพื่อยกระดับประเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากประเทศไทยยังคงเผชิญกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งข้อมูลรั่วไหลและการโจมตีทางไซเบอร์ที่ถี่ขึ้นและซับซ้อนขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านองค์ความรู้และทักษะทางดิจิทัลเริ่มส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อองค์กรต่าง ๆ ดังนั้น สกมช. จึงเพิ่มความเข้มข้นในการทำงานโดยร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อวางรากฐานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านไซเบอร์ของประเทศแก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้สามารถป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้และทักษะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้เข้าถึงประชาชนทุกระดับทุกช่วงวัย ผ่านเครือข่ายของ สกมช. ในรูปแบบการทำงานเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นการจัดโครงการหรือการจัดอบรมต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับประเทศ ประชาชนสามารถติดตามรายละเอียดโครงการดี ๆ จาก สกมช. ได้ที่ Facebook NCSA Thailand”
นางไอรดา เหลืองวิไล กล่าวว่า “การรู้เท่าทันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในเชิงลึกของบุคลากรภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งในยุคที่ประชาชนคาดหวังว่าจะสามารถใช้บริการภาครัฐได้ตลอดเวลา แม้ไม่ใช่เวลาราชการ ปัจจุบันหน่วยงานราชการก็มีการปรับตัวให้บริการทั้งแบบออนไลน์และผ่านศูนย์บริการร่วมภาครัฐในวันเสาร์และอาทิตย์ การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการตระหนักถึงสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจึงมีความสำคัญ ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่สถาบัน TDGA ได้ร่วมจัดฝึกอบรมหลักสูตรสำคัญด้านความมั่นคงปลอดภัย เช่น หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงภาครัฐในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย (Chief Information Security Officer: CISO) หลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber war game) และหลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น หลักสูตร CISO สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการขับเคลื่อนให้ทุกหน่วยงานเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะของบุคลากรภาครัฐด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ผ่านการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย”
|